สิรินธรน่า โคราชเอนซิส

สิรินธรน่า โคราชเอนซิส




สิรินธรน่า โคราชเอนซิส ไดโนเสาร์สกุลใหม่ และ ชนิดใหม่ของโลกโดยชื่อสกุล"สิรินธร" เป็นพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงสนพระทัยส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัยและอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ อายุประมาณ 115 ล้านปีก่อน ระบบนิเวศเป็นแบบกึ่งแห้งแล้ง โดยอิกัวโนดอนต์สิรินธรน่า มีความแตกต่างจากอิกัวโนดอนต์ 2 สกุล ที่พบในโคราชมาก่อน คือสกุลราชสีมาซอรัส และสยามโมดอน เช่น มีขากรรไกรล่างที่มีอัตราส่วนระหว่างความยาวและความสูงน้อยกว่าราชสีมาซอรัส หรือมีขากรรไกรบนทรงต่ำหรือลาดเอียงมากกว่าสยามโมดอน

ไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ จัดเป็นไดโนเสาร์กินพืช ที่มีกระดูกสะโพกแบบนก โดยมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ยาวกว่า 6 เมตร สูงระดับสะโพก 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 1 พันกิโลกรัม หรือ 1 ตัน ต่างจากไดโนเสาร์กินพืชพวกซอโรพอด หรือพวกคอยาวหางยาวขนาดใหญ่แบบสัตว์เลื้อยคลาน ชื่อภูเวียงโกซอรัสสิรินธรเน ที่พบในจ.กาฬสินธุ์และขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2537 ไดโนเสาร์ในกลุ่มอิกัวโนดอนต์นี้ พบมากกว่า 60 สกุล เพราะมีวิวัฒนาการต่อเนื่องมานับ 100 ล้านปี และพบกระจายทั่วโลก ลักษณะเด่นมีฟันคล้ายฟันอีกัวน่า แต่มีขนาดใหญ่กว่ากันมาก ไม่มีฟันในส่วนหน้าของขากรรไกรบน-ล่าง แต่มีจงอยปาก ที่เป็นกระดูกแข็งแทน ขาหลังแข็งแรง ใหญ่และยาวกว่าขาหน้า จึงเป็นไดโนเสาร์ที่วิ่งได้เร็วด้วย 2 เท้า แต่เวลาเดินหรือแทะเล็มกินใบไม้ยอดไม้ระดับต่ำจะเดินด้วย 4 เท้า

จนถึงขณะนี้ โคราชมีไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ 3 สกุล มากที่สุดในอาเซียน คือสกุลสิรินธรน่า ราชสีมาซอรัส และสยามโมดอน และยังมีโอกาสพบไดโนเสาร์ชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด เนื่องจากค้นพบฟอสซิลจำนวนมาก โดยอยู่ระหว่างงานวิจัยของสถาบันที่เกี่ยวข้อง ด้วยศักยภาพด้านทรัพยากรฟอสซิลไดโนเสาร์ระดับอาเซียนกระจายอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง, ปักธงชัย, สีคิ้ว และด่านขุนทด ซึ่งมีทำเลที่ตั้งเปรียบเสมือนประตูสู่อาณาจักรไดโนเสาร์อีสานและอาเซียน


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชี

กินรีไมมัส